การเรียนหนังสือ การทำงาน หรือ การทำความเข้าใจสิ่งที่ตัวเองเรียนรู้ ประสบมานั้นมีเทคนิคมากมาย หนึ่งในเทคนิคที่หลายคนมักจะได้ยินคนที่เค้าเรียนเก่งๆ หรือ เข้าใจอะไรได้เร็วพูดกันเสมอก็คือ เทคนิคการจดจำด้วยภาพ จะเร็วกว่าการจำเป็นตัวอักษร วิธีนี้คืออะไร แล้วเราทำได้จริงหรือ
การจำด้วยภาพ
เทคนิคการจำด้วยภาพนั้นเป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่คนมีความสามารถทางการเรียนรู้สูงๆจะใช้กัน เพื่อจดจำข้อมูลให้ได้ทั้งปริมาณ และคุณภาพ(รายละเอียดไปพร้อมกัน) การจำด้วยภาพนั้นเป็นการแปลความตัวอักษร เนื้อหา บทความนั้นให้กลายเป็นภาพเชื่อมโยงกัน อาจจะมีการสร้างเรื่องขึ้นมาเพื่อเป็นโซ่เชื่อมโยงข้อมูลเหล่านั้นให้เข้าใจได้มากขึ้นไม่กระจัดกระจายออกไป ทีนี้เวลาต้องการใช้ข้อมูลก็จะดึงภาพนั้นออกมาเป็นการฉายข้อมูลเหมือนโรงหนัง
ตัวอย่างการใช้เทคนิคการจำด้วยภาพ
สำหรับการจัดด้วยภาพนั้น หากนึกไม่ออกว่าเป็นอย่างไร เรามีตัวอย่างมาแนะนำ เราเคยเจอปัญหาการท่องจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษหรือไม่ เชื่อว่าหลายคนมี การจำศัพท์ภาษาอังกฤษหากเป็นแค่ระดับ 10-20 คำก็คงจะไม่ยากถ้าจำแบบธรรมดา แต่หากเราต้องการจะจดจำศัพท์สัก 50-100 คำหรือมากกว่านั้นล่ะจะทำอย่างไร การจำด้วยภาพจะเข้ามาช่วยตรงนี้ จากเดิมที่เราต้องจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษพร้อมคำแปลภาษาไทย ลองเปลี่ยนเป็นจำคำศัพท์แต่เปลี่ยนคำแปลนั้นเป็นภาพแทน ก็จะทำให้เราลดการจำลงได้เยอะอย่างคำว่า dog แทนที่เราจะแปลว่าสุนัข เราเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ให้สมองจำภาพหมาน้อยขึ้นมาแทน หรือบางทีเราต้องเจอคนมากมายในสังคมการทำงาน จำชื่ออาจจะได้บ้างไม่ได้บ้าง ลองเปลี่ยนใหม่ด้วยการจำชื่อกับหน้าคนนั้นให้สัมพันธ์(จับคู่)ก็จะทำให้เราจำคนได้ดียิ่งขึ้น
เทคนิคที่ฝึกฝนกันได้
เทคนิคการจำข้อมูลเป็นภาพนั้น หลายคนที่เรียนหนังสือเก่ง หรือ เข้าใจอะไรได้เร็ว มักจะมีเทคนิคแบบนี้ติดตัวด้วยตัวเองแบบไม่ต้องสอนอะไรมากมาย ยิ่งถ้าเราสังเกตให้ดีคนเก่งหลายคนจะมีทักษะทางด้านศิลปะควบคู่ไปด้วยยิ่งทำให้เค้าเข้าใจข้อมูลอะไรได้เร็ว จำแม่น จำได้ละเอียด แต่ถ้าหากเราไม่ได้มีเทคนิคนี้ด้วยตัวเองเราจะทำอย่างไร คำตอบก็คือเราสามารถฝึกฝนกันได้ ไม่ต้องกังวลไป วิธีการก็คือเราต้องฝึกจดจำข้อมูลให้เป็นภาพแบบง่ายๆก่อน อย่างพวกคำศัพท์ หรือ ขั้นตอนการทำงานอะไรสักอย่าง(จำเป็นภาพไดอะแกรม) เมื่อฝึกฝนบ่อยเข้าทุกอย่างจะจดจำเป็นสัญชาติญาณของร่างกายจนเมื่อเจอข้อมูลที่ต้องจำเราจะดึงแก่นของข้อมูลออกมาแล้วจดจำได้ทันที ลองฝึกดูนะ